กรณีไม่มีคู่กรณีเบิกพ.ร.บ.ได้หรือไม่

เคยสงสัยไหมว่าการคุ้มครองของพ.ร.บ.รถยนต์นั้นมีขอบข่ายการคุ้มครองหรือไม่ เมื่อเทียบกับกรณีดังต่อไปนี้ นอกจากรถยนต์คู่กรณีแล้วหากเราเป็นคนขับรถเกิดอุบัติเหตุเอง อาจจะด้วยวิสัยทัศที่ไม่ดี ถนนไม่เหมาะสม หรือรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ และในกรณีที่หากในวันใดวันหนึ่งเราเป็นผู้โดยสารแล้วเกิดอุบัติเหตุ ระหว่างเดินทางด้วยรถสาธารณะเราจะมีสิทธิ์อะไรคุ้มครองหรือไม่ ในวันนี้เราได้นำคำตอบมาไขข้อสงสัย เผื่อว่าวันใดคุณประสบเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะได้เรียนรู้ว่าจะรับมืออย่างไร และเตรียมตัวให้พร้อมในการรักษาสิทธิ์ของตัวเองที่ควรได้รับ

 

พ.ร.บ.รถยนต์และพ.ร.บ.จักรยานยนต์นั้นจะให้ความคุ้มครองผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากรถ ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสาร

ความคุ้มครองนั้นมีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นโดยไม่รอผลพิสูจน์ความรับผิด เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถ และรถคันที่เกิดอุบัติเหตุมีประกันภัย พ.ร.บ.ของบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยจ่ายเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น ภายใน 7 วัน ดังนี้

กรณีบาดเจ็บ จ่ายค่ารักษาพยาบาล สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท/คน

กรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรหรือสูญเสียอวัยวะ จ่าย 35,000 บาท/คน

หากเกิดความเสียหายทั้ง 2 กรณีรวมกันแล้วไม่เกิน 65,000 บาท

 

พ.ร.บ.กับกรณีเราเป็นผู้โดยสาร เมื่อประสบอุบัติเหตุเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จะได้รับค่าชดเชยหรือไม่        

กรณีเราเป็นผู้โดยสาร และได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จะมีเงินชดเชยรายวัน เป็นค่าสินไหมทดแทนที่นอกเหนือจากค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายต่อชีวิต ที่กำหนดให้บริษัทประกันภัยของรถคันที่เป็นฝ่ายผิด ซึ่งจะต้องรับผิดชอบโดยจะทำการจ่ายให้ผู้เสียหายโดยตรงสำหรับผู้ที่เป็นผู้โดยสารและหรือบุคคลภายนอกที่ถูกกระทำให้ได้รับความเสียหายต่อชีวิตหรือร่างกาย ในอัตราวันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน โดยจะพิจารณาจากหลักฐานการแสดงถึงจำนวนวันที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยเป็นผู้ป่วยใน)

 

เมื่อผู้ประสบอุบัติเหตุเป็นผู้โดยสาร หากรถที่มีประกันที่ผู้โดยสารมาด้วยนั้นเป็นฝ่ายผิด และมีการนอนรักษาตัว ในโรงพยาบาล 7 วัน บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายค่าชดเชยรายวันให้ 200 บาท x 7 วัน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,400 บาท

 

หากเกิดอุบัติเหตุแบบไม่มีคู่กรณี เช่น รถมอเตอร์ไซค์ล้มเองหรือชนสิ่งกีดขวาง จนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หากรถจักรยานยนต์คันที่เกิดเหตุมี พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ อย่างถูกต้องและยังไม่หมดอายุ ก็จะได้รับความคุ้มครองอยู่ โดนคิดเป็นค่าเสียหายเบื้องต้น สามารถเคลมได้ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ซึ่งทางบริษัทประกันที่เราทำพ.ร.บ. จะเป็นผู้ชดเชยค่าสินไหมทดแทนให้ภายใน 7 วัน ได้แก่

 

กรณีบาดเจ็บค่ารักษาพยาบาล เบิกได้สูงสุดคนละไม่เกิน 30,000 บาท (จ่ายตามจริง)

ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ เบิกได้สูงสุดคนละไม่เกิน 35,000 บาท

หากผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับความเสียหายทั้ง 2 กรณี สามารถเบิกรวมกันไม่เกินคนละ 65,000 บาท

 

โดยสรุปไม่ว่าจะด้วยเหตุใด เมื่อเราเป็นผู้โดยสารและประสบอุบัติเหตุจากรถยนต์ เราสามารถเบิกค่ารักษากับพ.ร.บ.รถยนต์คันที่เราโดยสารได้ หากเราเป็นผู้ขับขี่และประสบอุบัติเหตุด้วยตนเองก็สามารถรับความคุ้มครองจากพ.ร.บ.ได้เช่นกัน เท่านี้ก็รู้สึกอุ่นใจขึ้นนิดหน่อยเวลาเดินทาง แต่เหนือสิ่งอื่นใดการเดินทางและถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพก็เป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ไม่ว่าจะด้วยรถโดยสารหรือรถยนต์ส่วนตัวก็ตาม